เมื่อปี 2006 ตอนที่เริ่มทำ TWF ปีแรก ตอนนั้นในเมืองไทย ไม่มีใครรู้จักคำว่า “digital marketing” ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดโดยเฉพาะในฝั่งลูกค้าแบรนด์ต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพ จึงขอสรุปออกมาเป็น 3 ยุคของ digital marketing เมืองไทย
ยุคมืด (Dark Age)
ช่วงก่อนปี 2006 จนถึงกลางๆปี 2007 เรียกได้ว่า ยุคมืดของ digital marketing เลยทีเดียว สมัยนั้นฝ่ายการตลาดของแบรนด์ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ ตอนนั้นถ้าพูดถึงสื่อออนไลน์มีแต่เว็บไซด์เท่านั้นในขณะที่ต่างประเทศแบรนด์ต่างๆทำเว็บไซด์ได้น่าสนใจแปลกใหม่อย่างที่เห็นกันใน thefwa.com (สมัยนั้นยังใช้เป็นชื่อเต็ม favoritewebsiteawards.com) ในเมืองไทยเพิ่งตื่นตัวเรื่องเว็บ Flash แต่ก็ยังอยู่ในขั้นที่เบสิคเนื่องด้วยความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตตามบ้านช่วงนั้นสูงสุดประมาณ 1-2 Mbps เท่านั้น ช่วงยุคมืดลูกค้าบางบริษัทยังเข้าใจว่าเว็บไซด์เป็นหน้าที่ของฝ่าย IT มองว่าเว็บไซด์เป็นเรื่องเทคนิคมากกว่าจะมองว่าเป็นสื่อการตลาด ช่วงนั้น youtube.com และ social media ต่างๆยังไม่ถูกมองว่าสามารถมาทำการตลาดใดๆได้ (คำว่า “social media” ยังไม่เกิด และช่วงนั้นเมืองไทยมีแค่ hi5) และมือถือสมัยนั้นไว้โทรอย่างเดียวจริงๆ
ยุคกลาง (Middle Age)
ช่วงกลางปี 2007 ถึงปี 2012 (ซึ่งจริงๆอาจจะดูช่วงเวลายาวนานเกินไปกินเวลาตั้ง 5 ปี แต่ขอเอามาสรุปรวมๆให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคละกันครับ) กลางปี 2007 iPhone ถึอกำเนิดขึ้นแต่ “mobile” ก็ยังไม่เป็นดาวเด่นเอาแค่เว็บไซด์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รองรับการดูบนมือถือ แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือแบรนด์ส่วนใหญ่เริ่มมองว่าเว็บไซด์ทำอะไรได้มากกว่าแค่ให้ข้อมูลฝั่งเดียว ช่วงนี้เว็บ Flash จะพีคถึงขีดสุดจนถึงประมาณปลายปี 2010 ก็เสื่อมความนิยมไปหลังจากการมาของ iPad ในช่วงกลางปี การมาของ Facebook ในเมืองไทยช่วงแรกประมาณปี 2008 แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักจนกระทั่งปี 2010 ที่ Facebook เริ่มป็นที่สนใจในวงกว้างและเป็นที่นิยมอย่างสูงช่วงปี 2011 ตามมาด้วย social media อื่นๆรวมถึง YouTube ทำให้ในยุคกลางแบรนด์ตื่นตัวเรื่อง digital marketing มากขึ้น มี digital agency เกิดใหม่ในบ้านเรามากมายในยุคนี้ นักการตลาดเริ่มลงงบในสื่อ digital มากขึ้น ฝ่ายการตลาดของแบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่มีทีม digital หรือออนไลน์ชัดเจน การทำงานคือให้ทีมการตลาดแบ่งเวลามาประสานงานและวางแผนด้าน digital กับ agency ปลายปี 2011 แบรนด์ใหญ่ๆมีช่องทาง social media กันหมดแล้วและเว็บไซด์บริษัท/สินค้า/บริการ ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของสื่อการตลาด รวมถึงความเร็วเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั่วไปเริ่มมีระดับ 10 Mbps กันแล้ว
ยุครุ่งเรื่อง (Golden Age)
ปี 2013 เป็นต้นมา Facebook เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง (จริงๆต่อเนื่องมาเรื่อยๆตั้งแต่ 2012) ทุกแบรนด์ลงมาแจกของกันบน Facebook จนคนร่วมสนุกกันไม่หวาดไม่ไหวรวมถึงใน Twitter Instagram และ YouTube แบรนด์สร้างกิจกรรมและเนื้อหา (content marketing) ชัดเจนและเยอะมากขึ้น ตัวงานเองก็หลากหลายกว่ายุคกลาง ที่เห็นได้ชัดคือลูกค้าแบรนด์ที่ดูแลกันมาตั้งแต่ยุคกลางพอเข้ายุคนี้เริ่มมีทีม digital ของตัวเองแล้วจากที่หลายๆงานที่ต้องจ้างข้างนอกก็เริ่มทำกันเองข้างใน ทั้งฝั่ง agency และแบรนด์มีความต้องการบุคลากรด้าน digital เพิ่มขึ้น แค่มีเว็บไซด์ไม่พออีกต่อไปต้องเป็น “mobile first” ด้วยและมี mobile app ออกมาจากแบรนด์มากมาย ผู้บริโภคออนไลน์เกือบตลอดเวลา มีการก่อตั้งสมาคม digital agency แห่งประเทศไทยขึ้นและมีสื่อต่างๆมากมายเน้นเรื่องการตลาดดิจิตอลโดยเฉพาะ
แบ่งยุคได้คร่าวๆประมาณนี้ครับ อาจจะมีถูกผิดหรือคลาดเคลื่อนไปบ้างนิดหน่อยเนื่องจากอ้างอิงจากความทรงจำและประสบการณ์จากผู้เขียนล้วนๆ ใครมีความเห็นเพิ่มเติมตรงไหน comment กันไว้ได้เลยครับ