นอกจาก text-to-text generative AI ที่เป็นที่นิยมสุดๆ อย่าง ChatGPT ปัจจุบันก็มี text-to-image generative AI อีกหลายเจ้าที่กำลังเป็นกระแสช่วงนี้เช่นกัน ตั้งแต่ Midjourney, Dall-E, Stable Diffusion ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คนได้ลองนำ generative AI เหล่านี้สร้างภาพต่างๆ เพื่อใช้ในสื่อการตลาดไม่มากก็น้อย บ้างก็ใช้แทนการที่เช่าซื้อรูปจาก photo stock หรือแม้กระทั่งลดต้นทุนทำ photo shoot production
แต่หนึ่งในคำถามที่สำคัญคือ แล้วรูปภาพเหล่านี้มันนำมาใช้สำหรับการค้า (commercial use) ได้จริงหรือไม่ และใครเป็นเจ้าของภาพเหล่านั้น?
มีหลายเคสในต่างประเทศที่เกิดการฟ้องร้องว่า generative AI เหล่านั้น สร้างรูปโดยอ้างอิงจากการเทรนของรูปภาพที่มีเจ้าของ ตัวอย่างเช่น Getty Images ยื่นฟ้อง Stability AI ผู้สร้าง Stable Diffusion เพราะพบว่าได้นำรูปภาพจากเว็บไซต์ของ Getty Images ไปเทรน Stable Diffusion หลังจากมีคนพบว่า หลายภาพที่สร้างโดย Stable Diffusion มีลายน้ำของ Getty Images ติดไปด้วย

Credit: https://www.theverge.com/2023/1/17/23558516/ai-art-copyright-stable-diffusion-getty-images-lawsuit
มาลองดู Term of Service ของ Midjourney

ถ้าอ้างอิงของ Midjourney สำหรับ version จ่ายเงิน ผู้สร้างรูปภาพ (ผู้ prompt) เป็นเจ้าของรูปภาพ แต่อย่างไรก็ดี Midjourney ไม่สามารถรับผิดชอบเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ประเทศที่ผู้สร้างอาศัยอยู่ได้
ของ platform อื่นๆ ก็มีข้อความคล้ายๆ กันประมาณนี้ ซึ่งหมายความว่า รูปภาพที่ Generative AI สร้างขึ้น ผู้เขียน prompt เป็นเจ้าของรูปภาพนั้นๆ (แต่ Gen AI ที่สร้างสามารถนำรูปภาพเหล่านั้นไปใช้ต่อได้) ถ้าอ้างอิงข้อมูลประมาณนี้ นั่นหมายความว่าเราสามารถใช้รูปภาพที่สร้างโดย Gen AI เหล่านี้สำหรับสื่อการตลาดต่างๆ ได้เลย
แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป
เพราะอาจจะมีกรณีที่ Gen AI เหล่านั้นสร้างภาพขึ้นมาโดยอ้างอิงการเทรนจากรูปภาพที่มีลิขสิทธิ์หรือมีเจ้าของแล้ว แม้แนวโน้มจะมีน้อยก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า รูปภาพที่มีอยู่ใน internet ล้วนมีผู้สร้างและมีเจ้าของทั้งนั้น มีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่การสร้างรูปภาพขึ้นมาอาจจะแจ็คพ็อตไปดึงรูปที่เห็นชัดว่าเหมือนรูปที่มีลิขสิทธิ์แล้ว
สำหรับการใช้ที่ไม่ได้เป็นการค้าโดยตรง อย่างเช่นการใช้ภาพประกอบบทความที่ไม่ได้มีการยิงโฆษณา อาจจะสามารถใช้ได้เลย เช่นเดียวกันหากเราเป็นแบรนด์ที่ไม่ใหญ่มากไม่ได้มียอดขายระดับประเทศ ก็อาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงมากเทียบกับแบรนด์ใหญ่ๆ ที่อาจจะถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้นการนำรูปภาพที่ Gen AI ไปใช้ในสื่อการตลาดต่างๆ ที่ตั้งใจทำเพื่อการค้า ผู้ที่นำไปใช้ต้องพร้อมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้
หากให้แนะนำแบบปลอดภัยที่สุดคือ เราควรใช้ Gen AI สร้างรูปภาพเพื่อเป็นตัวอย่าง หรือเป็นการร่าง (draft) รูปภาพขึ้นมาเท่านั้น เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างในการวางชิ้นงาน ก่อนที่จะสรุปรูปแบบเพื่อนำไปผลิตจริงต่อไป เช่น ใช้ Gen AI ในการร่าง Key Visual ก่อนจะจ้าง agency หรือทีมทำงานในการสร้างภาพจริงขึ้นมา หรืออย่างน้อยๆ นำรูปภาพที่ Gen AI สร้างไปปรับต่อ
อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านทั้งไทยและต่างประเทศได้เสนอข้อคิดเอาไว้ว่า Generative AI ในปัจจุบัน เหมาะแก่การ “draft” งาน แต่มนุษย์เราต้อง “craft” งานขึ้นมาเองต่อไป